วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิธีการเลือกซื้อ Dictionary

วิธีเลือกซื้อ  Dictionary
(บทความนี้เรียบเรียงจากข้อคิดเห็นของคุณวงศ์ วรรธนพิเชฐ)
ทุกวันนี้ นักเรียน นักศึกษาส่วนมากต่างก็อยากเรียนภาษาอังกฤษให้เก่งๆ ให้ดีๆ ถ้าเราอยากสมหวังในเรื่องนี้ เราจะต้องมีปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ 4 ปัจจัย คือ
1.             ตนเองต้องขยันในการเรียนภาษาอังกฤษ
2.             มีโรงเรียนที่ดีๆ ให้เราได้ศึกษา
3.             มีอาจารย์ที่เก่งๆ มาสอนเรา
4.             มีหนังสือที่ดีๆ ให้เราได้ใช้อ่าน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
และหนังสือที่สำคัญที่สุดสำหรับนักเรียนที่เรียนภาษาต่างประเทศคือ พจนานุกรม แต่พจนานุกรมภาษาอังกฤษที่วางขายอยู่ในร้านหนังสือมีหลายสิบฉบับ หากไม่มีผู้แนะนำก็เป็นเรื่องยาก ที่นักเรียนจะสามารถเลือกซื้อฉบับที่มีประโยชน์ และเหมาะสมกับตนเองได้อย่างถูกต้อง
พจนานุกรมจัดเป็นสินค้าที่ซื้อยากที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะผู้ซื้อมักไม่มีความรู้มากพอที่จะตัดสินว่าเล่มใดดี หรือไม่ดี จากประสบการณ์ในการศึกษาภาษาอังกฤษที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 60 ปี ผมขอเสนอคำแนะนำ ในการเลือกซื้อ พจนานุกรม ภาษาอังกฤษ ที่ควรมีไว้ใช้สำหรับนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการเก่งภาษาอังกฤษ โดยแยกตามชนิดของพจนานุกรม ดังต่อไปนี้ (คำว่าพจนานุกรมในบทความต่อไปนี้จะแทนด้วยคำว่า ดิกฯเพื่อความสั้นและกระชับ)
1.พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย
พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย เป็นดิกฯที่จำเป็นสำหรับนักเรียนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษ แต่ดิกฯ แบบนี้ที่ดีๆ มีน้อย เพราะผู้แต่งบางคนใช้เวลาในการค้นคว้าไม่พอ เล่มที่ดีเล่มหนึ่งเป็นของ สอ เสถบุตร ฉบับปรับปรุงใหม่ในปี พ.ศ. 2548 ถ้าเป็นนักเรียน นักศึกษาโดยทั่วไปเลือกซื้อเล่มขนาดกลาง (Desk Edition) ก็พอ
ข้อดีของดิกฯ อังกฤษ-ไทยคือ เราสามารถจำคำแปล หรือความหมายของคำศัพท์ได้แม่นยำกว่า เพราะภาษาที่แปล เป็นภาษาของเราเอง แต่ถ้าต้องการเรียนรู้คำศัพท์อย่างลึกซึ้ง และทราบความหมายของคำศัพท์ได้อย่างชัดเจน ให้ใช้ดิกฯ อังกฤษ-อังกฤษ
2.พจนานุกรมไทย-อังกฤษ
พจนานุกรมไทย-อังกฤษ เป็นดิกฯที่จำเป็นสำหรับนักเรียนไทยที่อยากหัดเขียนภาษาอังกฤษ หรือแปลไทยเป็นอังกฤษ ฉบับของ สอ เสถบุตรก็ดีเหมือนกัน ส่วนดิกฯ ฉบับอื่นๆ พบคำแปลที่ผิด มากบ้าง น้อยบ้าง

สำหรับพจนานุกรมไทย-อังกฤษ ฉบับ New Age ที่ผมเรียบเรียง (พ.ศ. 2549) ยึดคำศัพท์ในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546) เป็นหลัก เนื้อหาใหม่ มีคำศัพท์ ลูกคำ และวลีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมกันถึง 53,400 คำ ซึ่งนับว่าเป็นดิกฯ ที่มีคำศัพท์มากที่สุด การเรียงลำดับคำค้นหาได้ง่าย คำแปลถูกต้อง ครอบคลุมและชัดเจน มีระบบการออกเสียงตามอักษรโรมัน ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่เพื่อช่วยในการออกเสียงให้ถูกต้องแม่นยำ เป็นประโยชน์สำหรับคนต่างชาติ หรือแม้แต่คนไทยเองที่พบคำอ่านยาก ก็จะได้รับประโยชน์จากระบบใหม่นี้เช่นกัน
นอกจากนี้ ดิกฯ ฉบับ New Age ยังมี
  • สำนวน สุภาษิต คำพังเพย
  • ภาคผนวกที่รวบรวมอักษรย่อ ชื่อกระทรวง ทบวง กรม
  • ลำดับราชวงศ์
  • ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และมาตราชั่ง ตวง วัด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่องานแปล
จัดจำหน่ายโดยศูนย์หนังสือจุฬาฯ
3. พจนานุกรมอังกฤษ-อังกฤษ
ผมอยากแนะนำให้นักศึกษาไทยใช้ดิกฯ อังกฤษ-อังกฤษ ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะอธิบายคำศัพท์ได้แม่นยำกว่าดิกฯ อังกฤษ-ไทย และช่วยสอนการเขียนภาษาอังกฤษได้ด้วย
ดิกฯ ชนิดนี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
สำหรับคนต่างประเทศใช้โดยเฉพาะ จะเน้นการใช้ภาษามากกว่าและใช้คำอธิบายที่เข้าใจง่ายกว่า ฉบับที่มีคนใช้มากที่สุดและดีที่สุดคือ
  • Oxford Advanced Learner’s Dictionary
  • นอกจากนี้ยังมีฉบับ Cobuild, Longman, Cambridge ก็มีข้อดีกันคนละอย่าง
สำหรับเจ้าของภาษาใช้เอง ฉบับที่ดีๆ ได้แก่
  • Concise Oxford Dictionary
  • Oxford English Reference Dictionary
  • Webster's New Collegiate Dictionary
  • Webster's New World Dictionary
  • Collegiate Edition Encarta World English Dictionary
  • The American Heritage Dictionary
4. พจนานุกรมแบบกลุ่มคำ (Collocation)
พจนานุกรมแบบกลุ่มคำ (Collocation) เป็นดิกฯ ชนิดใหม่ที่รวบรวมตัวอย่างคำภาษาอังกฤษ ที่ปกติใช้รวมกันเป็นกลุ่มคำเสมอ เพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถเลือกคำในการเขียนได้ถูกต้อง ตามมาตรฐานของเจ้าของภาษา ดิกฯ แบบนี้นักเรียนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักและยังใช้ไม่เป็น แต่ผมขอแนะนำว่าดิกฯ ชนิดนี้ มีประโยชน์ต่อนักเรียนในการแต่งประโยค ปัจจุบันมีวางขายที่ร้านหนังสือทั่วไปเพียงสองฉบับคือ
  • Oxford Collocations Dictionary, 2002 มีข้อมูลส่วนใหญ่เป็นคำๆ ข้อมูลที่เป็นประโยคหรือวลีมีเป็นส่วนน้อย ใช้ยาก
  • English By Example: A Dictionary of English Collocations with Thai Translations ฉบับ ตั้งโต๊ะ (สำหรับ ฉบับใหญ่ ต้องสั่งซื้อโดยตรง)
ที่มา  http://www.dicthai.com/dictionary_types.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น